ทองรูปพรรณ ราคาซื้อ ราคาขาย จากประกาศราคาทอง ดูยังไง

ราคาทองตามประกาศของสามคมค้าทองคำ

ทองรูปพรรณ ราคาซื้อ ราคาขาย จำง่ายๆ เวลาเราจะไปซื้อให้ดูราคาตัวมาก 
เวลาไปขายทองให้กับร้าน ให้ดูราคาตัวน้อย เราจะซื้อแพงและขายถูกกว่า 100 บาท

ราคาทองรูปพรรณ ราคาซื้อ ราคาขาย

ใครสับสน ราคาซื้อราคาขาย เมื่อดูราคาประกาศจากสมาคมค้าทองคำ กันบ้างคะ
เราเป็นผู้ซื้อทอง ต้องดูราคาตัวไหน?

จากรูปบน ให้ดูที่ราคาซื้อ
จากรูปล่าง ให้ดูที่ราคาขายออก
งง!! ตกลง ให้ดูที่ราคาซื้อหรือราคาขาย กันแน่

จำง่ายๆ เวลาเราจะไปซื้อให้ดูราคาตัวมาก จากรูปคือ ราคา 32,150
เวลาไปขายทองให้กับร้าน ให้ดูราคาตัวน้อย จากรูปคือ ราคา 32,050
เราจะซื้อแพงและขายถูกกว่า 100 บาท

ยังมีงงในงงกว่า คือ
รูปบน แสดงราคาขายคืนทองรูปพรรณ 31,472.16
ทำให้เราเข้าใจว่า เวลาเราไปขายคืนทองรูปพรรณ เราจะต้องได้ราคานี้
แต่ในความจริง ตัวเลขนี้แสดงไว้สำหรับร้านทอง นำไปคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังรูปที่ สมาคมค้าทองคำ ใช้คำว่า “ฐานภาษี”
เราในฐานะผู้ซื้อผู้ขาย ไม่ได้ใช้ตัวเลขช่องนี้ค่ะ
ทองรูปพรรณ ราคาทองวันนี้ ห้างทองแม่อุ๋ย

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

กำหนดราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ ให้หักจากราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง สูงสุดไม่เกิน 5% กรณีที่เป็นการขายคืนร้านเดิม

ตัวอย่าง ราคาทองคำแท่ง ขายคืนบาทละ 32,050
ทองรูปพรรณ 1 บาท ร้านทองรับซื้อคืนสูงสุด
32,050 – 5% เท่ากับ 30,447 บาท
โดยน้ำหนักทองต้องเต็ม 1 บาท 15.16 กรัม ชั่งหลังจากเผาเอาสิ่งเจือปนออก
และเปอร์เซนต์ทองคือ 96.5%

สำหรับวิธีคิดคำนวณทองรูปพรรณ น้ำหนักอื่นๆ
ทองรูปพรรณ 2 สลึง 30,447/2 = 15,223 บาท
ทองรูปพรรณ 1 บาท มี 4 สลึง 2 สลึง จึงหาร 2

ทองรูปพรรณ 1 สลึง 30,447/4 = 7,611 บาท

ทองรูปพรรณ ครึ่งสลึง 30,447/8 = 3,805 บาท

กรณีน้ำหนักทองไม่เต็มตามมาตรฐาน คิดคำนวณราคาขายคืน ดังนี้
(ราคาทองแท่งรับซื้อคืน -5%)/15.244*น้ำหนักทองชั่งได้

ทองรูปพรรณ 1 บาท ราคาร้านทองขายออก

สมาคมค้าทองคำ ประกาศให้เท่ากับ
ราคาทองคำแท่ง +500 สำหรับลายพื้นฐาน

ตัวอย่าง ราคาทองแท่ง ขายออกบาทละ 32,150
ทองรูปพรรณ 1 บาท
ค่ากำเหน็จ ประมาณ 500-1,000 บาท
ราคาจะอยู่ 32,650-33,150 บาท

ทองรูปพรรณ 2 สลึง (เฉพาะเนื้อทอง) เท่ากับ
32,150/2 เท่ากับ 16,075
ค่ากำเหน็จ ประมาณ 500-900 บาท
ราคาจะอยู่ 16,575 – 16,975 บาท

ทองรูปพรรณ 1 สลึง (เฉพาะเนื้อทอง) เท่ากับ
32,150/4 เท่ากับ 8,038
ค่ากำเหน็จ ประมาณ 500-800 บาท
ราคาจะอยู่ 8,538-8,838 บาท

ทองรูปพรรณ ครึ่งสลึง (เฉพาะเนื้อทอง) เท่ากับ
32,150/8 เท่ากับ 4,019
ค่ากำเหน็จ ประมาณ 500-700 บาท
ราคาจะอยู่ 4,519-4,719 บาท

อะไรที่ทำให้ราคาทองรูปพรรณแต่ละร้านแตกต่างกัน

ความใกล้ไกลจากผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ย่านเยาวราช กรุงเทพ
จะมีค่าเดินทาง และค่าดำเนินการต่างๆ ในการรับทองใหม่ไปขาย สูงกว่าร้านทองในกรุงเทพ
ค่าต่างๆ เหล่านี้ทำให้ราคาทองรูปพรรณแต่ละร้านแต่ละพื้นที่ มีราคาแตกต่างกัน

ทองรูปพรรณ ราคาไม่เท่ากับ ทองคำแท่ง

ทองรูปพรรณ มีราคาขายออกที่สูงกว่าทองคำแท่ง
ด้วยกระบวนการผลิดทองคำรูปพรรณมีค่าแรงสูงกว่าทองคำแท่ง
ทองรูปพรรณที่มีความปราณีตของลายทองมากกว่า จะมีค่าแรงทำทองสูงกว่า

ทองรูปพรรณ น้ำหนักไม่เท่ากับ ทองคำแท่ง

น้ำหนักทองรูปพรรณ 1 บาท มีน้ำหนักไม่เท่ากับทองคำแท่ง 1 บาท
ทองรูปพรรณ 1 บาท มีน้ำหนัก 15.16 กรัม
แต่ทองคำแท่ง 1 บาท มีน้ำหนัก 15.244 กรัม
น้ำหนักที่ต่างกันนี้ มีผลต่อราคาขายคืนทองรูปพรรณ
ทำให้ได้ราคาขายคืนทองรูปพรรณต่ำว่าทองคำแท่ง

ค่าแรงทำทองรูปพรรณ คือ

การทำทองรูปพรรณ เป็นศิลปะและงานช่างที่ต้องใช้ความชำนาญ และความรอบคอบ
เนื่องจากทุกขั้นตอนในการทำทองรูปพรรณ ต้องใช้ความพิถีพิถัน
รายละเอียดของงานทุกส่วน มีผลต่อความสมบูรณ์และความสวยงามของชิ้นงาน

อีกปัจจัยที่สำคัญในการทำทองรูปพรรณ คือ
ความสามารถในการใช้เครื่องมือและเทคนิคต่างๆ
ตั้งแต่การใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย
ช่วยให้งานทำได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ไปจนถึงการใช้เครื่องมือด้วยมือในการทำรายละเอียดเล็กๆ
ซึ่งต้องใช้ความละเอียดในการจับตัวงานทองรูปพรรณ

การทำทองรูปพรรณ มาจากความคิดสร้างสรรค์
และความใส่ใจในรายละเอียด
ทองรูปพรรณแต่ละชิ้นมีความหมายและมีเรื่องราว ความหมายที่แตกต่างกัน
สอดแทรกสัญญาลักษณ์ที่มีความหมายทางศาสนา
ความเชื่อ ความรัก ที่ผู้ใช้งานต้องการแสดงออกผ่านทองรูปพรรณ
เช่น ตัวละครเทพเจ้า หรือเทพี สัตว์ที่มีความสำคัญในวัฒนธรรม เป็นต้น

ทองรูปพรรณ ที่ทำขึ้นด้วยทองแท้แล้ว
ยังมีการใช้วัสดุอื่นๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและความสวยงามให้กับงาน
ตัวอย่างเช่น การใช้ทองคำแดง เพื่อเน้นรายละเอียดหรือสีสันของงาน
การใช้สังกะสีเพื่อสร้างความคมชัดในการแสดงรายละเอียด
หรือการใช้เพชรและอัญมณีเป็นวัสดุประดับ
เพื่อเพิ่มความงดงามและมีค่าความเป็นอีกด้วย

ทองรูปพรรณเป็นงานช่างที่ใช้เวลาและความพยายามในการสร้างขึ้นมา
การทำงานต้องใช้ความอดทนและความละเอียด
เนื่องจากผิวทองนุ่มและอ่อนตัว

ทั้งหมดที่กล่าวมา เรียกว่า ค่าแรง ค่าลาย ค่ากำเหน็จ ทองรูปพรรณ

ลายทองรูปพรรณ มีแบบไหนบ้าง

ทองน้ำหนัก 1 บาทเท่ากัน สามารถผลิตออกมาให้ดูเล็กใหญ่ต่างกันได้
ลายทองแบบโปร่งจะดูใหญ่ ส่วนลายทองแบบตันจะดูเล็ก
ซึ่งลายแบบตันจะแข็งแรงกว่าแบบโปร่ง
นอกจากลายแล้วทองน้ำหนักน้อยๆ อย่าง สร้อยคอ 1 สลึง
ย่อมมีความแข็งแรงทนทานน้อยกว่า มีโอกาสบุบหรือขาดง่ายกว่า
สร้อยคอ 2 สลึง หรือ 1 บาท เพราะทอง 1 สลึงมีเนื้อทองน้อยกว่า

สำหรับสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ลายทองแบบทอ เป็นการทอลวดทองต่อๆ กัน
มีชื่อเรียกอย่าง ลายเปีย สี่เสา กระดูกงู เบนซ์ ซีตรอง
ลายทองแบบคล้องต่อกัน มีชื่อเรียกอย่าง ทาโร่ ไข่ปลา ปล้องอ้อย ลายโซ่
คนที่ใส่ทองติดตัวตลอด ควรเลือกลายที่เส้นมีความกลมเรียบ
ไม่มีเหลี่ยมมุม อย่างลายหกเสา หรือ ลายผ่าหวาย เป็นต้น

ส่วนแหวน ก็มีทั้งแบบโปร่งและแบบตัน
การเลือกลายให้ดูจากการใส่ หากใส่เป็นประจำ
ควรเป็นแบบตัน ลายเกลี้ยง ปลอกมีดตัดลาย
ส่วนลายแฟนซี เหมาะกับการใส่ออกงานเป็นครั้งคราว

ทองรูปพรรณแต่ละน้ำหนัก

ในประเทศไทย ใช้หน่วยทองเป็น บาท
โดย ทอง 1 บาท เท่ากับ 4 สลึง หรือ 100 สตางค์
เช่น ทอง 1 สลึง หรือ ทอง 25 สตางค์ ทอง 2 สลึง หรือ 50 สตางค์
ชื่อเรียกอาจต่างกันแต่น้ำหนักทองเท่ากัน
หน่วยทองสมัยโบราณ อย่าง เฟื้อง ก็ยังมีคนเรียกอยู่ในสมัยนี้
ทอง 1 เฟื้อง เท่ากับ ครึ่งสลึง

น้ำหนักทองสากล มีหน่วยเป็น กรัม
ไม่ว่าจะซื้อขายเป็นหน่วยอะไร จะต้องมีการเทียบค่าเป็นหน่วยกรัมเสมอ
ทองรูปพรรณ 1 บาท เท่ากับ 15.16 กรัม
ทอง 2 สลึง เท่ากับ 7.58 กรัม (เอา 2 หาร)
ทอง 1 สลึง เท่ากับ 3.79 กรัม (เอา 4 หาร)

ตราสัญลักษณ์ประจำตัวผู้ผลิต

ทองรูปพรรณที่รับมาจากผู้ผลิตทองรูปพรรณ ที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความบริสุทธิ์
ทองรูปพรรณ 96.5% จาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
โดยจะมีตราสัญลักษณ์โลโก้ หรือตัวอักษรประจำตัวของผู้ผลิต
ลงบนชิ้นงานนั้นๆ ด้วย เช่น แหวน ก็จะอยู่ด้านในของแหวน
สร้อยก็จะอยู่ที่ปลายสร้อยด้านใดด้านหนึ่ง

นอกจากดูราคาซื้อขายแล้ว เพื่อให้ได้ทองคุณภาพดี ราคาขายคืนตามมาตรฐาน
ให้ดูความน่าเชื่อถือของร้านทองที่เข้าเป็นสมาชิกสมาคมค้าทองคำ
และทองรูปพรรณมาจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)